Last updated: 4 ก.ค. 2566 | 2197 จำนวนผู้เข้าชม |
แบบประเมินพลังใจที่ผ่านมาทั้งฉบับ 20 ข้อ และ 6 ข้อ ไม่สะดวกต่อการนำไปใช้ในสถานการณ์เร่งด่วนหรือวิกฤตที่ต้องมีการประเมินได้อย่างรวดเร็ว จากการศึกษาเรื่อง "ความตรงและความเชื่อมั่นของแบบประเมินพลังใจฉบับ 3 ข้อ" ใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจแบบเร่งด่วนในพื้นที่เจาะจง พ.ศ. 2564 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 3,060 คน ศึกษาคุณสมบัติของแบบประเมินพลังใจฉบับ 6 ข้อ เพื่อหาค่าอำนาจจำแนกซ้ำโดยการทดสอบสถิติ t-test ระหว่างกลุ่มคะแนนสูงและคะแนนต่ำ ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน จากนั้นคัดเลือกข้อคำถาม 3 ข้อที่เป็นตัวแทนองค์ประกอบพลังใจ 3 ด้าน (พลังอึด พลังฮึด และพลังสู้) โดยพิจารณาจากค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน และค่าความสัมพันธ์ระหว่างรายข้อด้วยวิธีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และทดสอบความสอดคล้องระหว่างแบบประเมินฉบับ 6 ข้อ และ 3 ข้อด้วยวิธีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน พบว่า แบบประเมินพลังใจฉบับ 3 ข้อมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .910 ความสัมพันธ์ระหว่างข้อ .767 - .777 และสอดคล้องกับฉบับ 6 ข้อในทุกองค์ประกอบ โดยมีค่าระหว่าง .960 - .966 จึงสามารถใช้เป็นประเมินพลังใจของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ และเป็นข้อมูลในการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่อไป
.
อ่านเพิ่มเติมทาง : https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/258814
.
#cite
เทอดศักดิ์ เดชคง, พาสนา คุณาธิวัฒน์, ธิดารัตน์ ทิพโชติ, ภพธร วุฒิหาร. ความตรงและความเชื่อมั่นของแบบประเมินพลังใจฉบับ 3 ข้อ. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย. 2565;30(4):297-306.